องค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู : www.wangthongnb.go.th

 
 
สถานที่ท่องเที่ยว


วัดถ้ำเอราวัณ

 

วัดถ้ำเอราวัณ ตั้งอยู่บ้านผาอินทร์แปลง ตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นวัดสังกัดธรรมยุตินิกาย ภายในวัดนอกจากจะเป็นวัดที่มีความสงบร่มรื่นแล้ว ยังมีถ้ำเอราวัณ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และขึ้นชื่อของจังหวัดหนองบัวลำภู

  ถ้ำเอราวัณ ถ้ำเอราวัณ ตามประวัติความเป็นมาของถ้ำอันเป็นมรดกทางธรรมชาติแห่งนี้ไม่มีหลักฐานว่า ผู้ใดเป็นผู้ค้นพบครั้งแรกเมื่อใด แต่มีเรื่องเล่าว่า ประมาณ ปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเจ้า ทรงยกกองทัพออกต่อต้าน กองทัพพระเจ้าหงสาวดี ของพม่า ทรงเสียทีข้าศึกแตกพ่ายย่อยยับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงรวบรวมเอาแม่ทัพนายกองไพร่พลราษฎรออกเดินทาง หลบหนีไปทางด้านทิศตะวันตก เพื่อหาสถานที่ปลอดภัยหลบซ่อนข้าศึก จนมาถึงบริเวณเทือกเขาผาวัง ซึ่งมีเขาลูกหนึ่ง(ปัจจุบันคือถ้ำเอราวัณ) จึงมอบให้เจ้าชายนาเรือและเจ้าชายวรวงศ์ผู้เป็นพระอนุชา แบ่งกำลังไพร่พลราษฎรครึ่งหนึ่งประจำอยู่ที่ถ้ำเอราวัณ เพื่อซ่องสุมกำลังฝึกทหารและสะสมเสบียงอาหารเก็บไว้ในการทำศึกสงครามกู้แผ่น ดินต่อไป จากนั้นก็ไม่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับถ้ำเอราวัณอีก จนต่อมา

พระครูปลัดฝั่นปาเรสโกได้ธุดงค์มาพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่เชิงเขา ท่านเห็นเป็นที่เหมาะสมต่อการทำความเพียรบำเพ็ญภาวนา จึงได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาสร้างวัดขึ้น เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๑๒โดยใช้ชื่อว่า วัดถ้ำช้างหรือวัดผาถ้ำช้างตามชื่อภูเขาถ้ำช้างที่ชาวบ้านเรียกกัน ต่อมามีผู้มีจิตศรัทธาบริจาค ทรัพย์สร้าง รูปปั้นช้างเอราวัณ พาหนะของพระอินทร์ เอาไว้ตรงเชิงบันไดขึ้นถ้ำ จึงเรียกชื่อวัดใหม่ว่าวัดถ้ำเอราวัณและเรียกชื่อของถ้ำว่าถ้ำเอราวัณเพื่อให้สอดคล้องกัน ชื่อถ้ำเอราวัณจึงมาถึงเท่าทุกวันนี้ เดิมการเที่ยวก็ค่อนข้างทุลักทุเล เพราะต้องป่ายปีนเขาขึ้นไปยังถ้ำ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ มีผู้บริจาคทรัพย์ สร้างบันไดปูนซีเมนต์วนไปตามทางชันของเขาอย่างมีศิลปะจำนวน ๖๒๑   ขั้น บริเวณปาก ถ้ำมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่มีพระนามว่า พระพุทธชัยศรีมหามุนีตรีโลกนาถซึ่งมีพุทธลักษณะได้สัดส่วนงดงาม สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ สมเด็จพระมหาวีรวงค์วัดพระศรีมหาธาตุเป็นผู้ถวายพระนาม ตรงหน้าพระพุทธรูปเป็นลานกว้างสำหรับยืนรับลมชมวิวทิวทัศน์ ที่สวยงามตามธรรมชาติ ภายในถ้ำเป็นห้องโถงกว้างขวาง และเป็นสถานที่ ที่มาแห่งนิทานพื้นบ้านเรื่อง นางผมหอมมีหินงอกหินย้อยสวยงามตระการตา

  การเดินทาง ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๐ บริเวณหลัก กม.ที่ ๑๓ (หนองบัวลำภู เลย ) ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภู ๔๕ กม. มีทางแยกขวามือเข้าไปอีก ๒ กม


วัดป่าภูฝางสันติธรรม

   วัดป่าภูฝางสันติธรรม ตั้งอยู่บ้านไทยสามัคคี หมู่ที่ ๙ ตำบลวังทอง สังกัดธรรมยุตินิกาย เป็นศาสนสถานอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญของอำเภอนาวัง และจังหวัดหนองบัวลำภูโดยเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม เป็นประจำจากหน่วยงานราชการ สถานศึกษา ทั้งในเขตอำเภอนาวังและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งเคยเป็นสถานที่อบรมบำบัด และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ของจังหวัดหนองบัวลำภู และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา สืบเนื่องจากมีสถานที่ ที่เหมาะสม สงบ ร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมมีเสนาสนะที่สวยงามและใหญ่โต มีเจ้าอาวาส คือพระอาจารย์เกรียงไกร โฆสธมโม โดยวัดแห่งนี้ได้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙

หลวงปู่สมหวังรัตนมณี (วัดถ้ำผาวัง)

  

   หลวงปู่สมหวังรัตนมณี ตั้งอยู่ภายในวัดถ้ำผาวัง บ้านโนนภูทอง ตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๗ เมตร สูง ๑๒ เมตร บริเวณที่ตั้ง ตั้งอยู่เชิงเขาผาวัง ติดถนนหนองบัวลำภู เลย หันหน้าไปทางถนนหรือทางทิศใต้ โดยชาวบ้านได้บริจาคทรัพย์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๗ มีบันไดทางขึ้น จำนวน ๕๘ ขั้น ผู้คนเดินทางสัญจรผ่านไป-มา ได้สักการบูชา และได้ขอพร เป็นที่สมหวัง จึงได้ตั้งชื่อว่า หลวงปู่สมหวังรัตนมณีการเดินทาง ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภู ประมาณ ๕๐ กม.ตามเส้นทางหนองบัวลำภู เลย ทางหลวงหมายเลข ๒๑๐

 

 

ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดทรงธรรมบรรพต

   ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนวัดทรงธรรมบรรพต ตั้งอยู่ที่บ้านวังสำราญ หมู่ที่ ๒ ตำบลวังทองเป็นสถานที่ จัดตั้งโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ตำบลวังทองโดยได้จัดตั้งโครงการขึ้น เมื่อ วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๑ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนระดับดีเด่นของ จังหวัด และในปี ๒๕๕๔ ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ระดับ ๔ ได้รับโล่จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยมี พระครูประทีปธรรมธร เป็นเจ้าอาวาส และประธานโครงการ
   การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภู ประมาณ ๕๕ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๐ เส้นทางหนองบัวลำภู
เลย

 

อ่างเก็บน้ำห้วยผาวัง

   ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ บ้านไทยนิยม ตำบลวังทอง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีบรรยากาศสบายน่าท่องเที่ยว มีแพบริการแบบขึงเชือกสำหรับชักแพออกไปรับบรรยากาศกลางลำน้ำ และ อาหารอร่อยคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว และผู้มาเยือนทุกท่าน
   การเดินทาง ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๐ เส้นทางหนองบัวลำภู
เลย ห่างจากตัวเมืองหนองบัวลำภู ประมาณ ๔๕ กม. มีทางแยกเข้าไปซ้ายมือ เข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร

                       ที่มา:http://www.nongbualamphu.go.th/390/index.php/2015-09-29-04-59-24/99-2015-09-14-05-37-23